สุขภาพ ดีเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา และอยากให้อยู่กับเราไปนาน ๆ แต่ด้วยอายุที่เพิ่มขึ้น ทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายถดถอยลง โรคภัยไข้เจ็บก็ตามมาเป็นเงา โดยเฉพาะโรคที่ประมาทไม่ได้ ดังเช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่
นพ.วรมินทร์ เหรียญสุวรรณ ศัลยแพทย์ระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลศิริราช ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ว่า ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคนี้ประกอบด้วย ปัจจัยทางพันธุกรรม เนื่องจากมีความผิดปกติที่ยีนบางตัว ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีอายุน้อยกว่า 45 ปี และมีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม มีความเชื่อว่าเกิดจากการรับประทานอาหารแบบตะวันตก เช่น อาหารที่ไขมันสูง ของทอด อาหารประเภทปิ้งย่าง อาหารประเภทเนื้อแดง อาหารที่มีกากใยอาหารต่ำ กินอาหารที่มีกากใยน้อย
มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นโรคที่มีอุบัติการณ์สูงในประเทศแถบตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา และประเทศทางยุโรป โดยในประเทศสหรัฐอเมริกา ประชากรมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ตลอดชีวิตประมาณร้อยละ 6 หรือ 1 ต่อ 20 ของประชากร ประมาณการว่ามีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้น 138,000 รายต่อปี และจะมีผู้ป่วยเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ประมาณ 60,000 คนต่อปี
“เมื่อมีปัจจัยมากระตุ้นจะทำให้เซลล์เยื่อบุผิวลำไส้ใหญ่มีการแบ่งตัวผิด ปกติเกิดเป็นติ่งเนื้องอกขึ้นมาก่อนที่เรียกว่า โพลิป (polyp) หลังจากนั้น เมื่อมีการแบ่งตัวของเซลล์เยื่อบุผิวลำไส้ใหญ่มากขึ้นเรื่อย ๆ ติ่งเนื้องอกก็จะเปลี่ยนเป็นก้อนมะเร็ง เป็นแผลขยายมากขึ้น โดยขั้นตอน เหล่านี้ใช้เวลาประมาณ 5-10 ปี”
สำหรับประเทศไทย มะเร็งลำไส้ใหญ่ มีอุบัติการณ์ต่ำกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว จากสถิติของสถานวิทยามะเร็ง โรงพยาบาลศิริราชพบว่า มะเร็งลำไส้ใหญ่ มีอุบัติการณ์สูงเป็นอันดับ 4 ในเพศชาย รองจากมะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนในเพศหญิงพบมากเป็นอันดับ 3 รองจากมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม