วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2556

เมื่อ “หูหนู” มีปัญหา/Health Line สายตรงสุขภาพ

อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ เพราะถ้าหากเด็กแรกเกิดหรือว่าลูกน้อยของคุณมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน มันจะส่งผลต่อพัฒนาการในด้านอื่นๆ ของเขาตามไปด้วย ไล่ตั้งแต่การพูด การสื่อสาร ไปจนถึงการเข้าสังคม แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกน้อยของเรามีปัญหาเช่นนั้น
นพ.พิบูล วชิรลาภไพฑูรย์ หัวหน้างานโสต คอ นาสิก โรงพยาบาลเด็ก ให้ข้อมูลว่า อาการที่หูมีปัญหาในการได้ยิน สามารถเกิดขึ้นมาได้ตั้งแต่แรกคลอด ไปจนถึงหลังคลอด และจะเป็นตลอดไป หากไม่ได้รับการรักษา
“แรกคลอดก็คือเป็นโรคจากพันธุกรรม หรือว่ามีการติดเชื้อของมารดาช่วงตั้งครรภ์ อย่างพวกหัดเยอรมันซึ่งคุณแม่ไม่ได้ฉีดวัคซีนเอาไว้ เพราะถ้าติดเชื้อแล้ว มันจะแก้ไขไม่ได้เลย ส่วนอีกอย่างก็คือหลังคลอด ก็จะมีโรคหลายโรค เช่นมีความผิดปกติทางใบหน้าหรือใบหู หรือมีการติดเชื้อหลังคลอด เช่น ติดเชื้อเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น อีกกลุ่มหนึ่งก็เป็นเรื่องอุบัติเหตุ”
ปัจจุบันเด็กที่มีปัญหาในการได้ยิน มีอัตราส่วนอยู่ที่หนึ่งถึงสองคน ต่อจำนวนเด็กหนึ่งพันคน และกลุ่มที่ถือว่าเสี่ยงมากที่สุด คือกลุ่มเด็กแรกคลอดที่ต้องนอนในห้องไอ.ซี.ยู.นานๆ หรือคลอดก่อนกำเนิด ในทางการแพทย์ มีวิธีการสังเกตแบบเป็นวิทยาศาตร์ ตลอดจนเฝ้าระวังเพื่อศึกษาว่าเด็กคนไหนมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน ประกอบไปด้วย 1.มีบุคคลในครอบครัวมีปัญหาเรื่องการได้ยินบกพร่อง หรือหูหนวกตั้งแต่วัยเด็ก 2.แม่มีการติดเชื้อในขณะตั้งครรภ์ 3.ทารกที่มีปัญหากระดูกใบหน้า กะโหลกศีรษะ รูหู ใบหู ผิดรูปไปจากปกติ 4.มีปัญหาระหว่างการคลอด โดยเฉพาะทารกจะต้องได้รับการพยาบาลในห้องไอ.ซี.ยู.ตัวเหลืองได้รับการถ่าย เลือด ใช้เครื่องช่วยหายใจ 5.น้ำหนักตัวแรกคลอดน้อยกว่า 1500 กรัม
“เด็กที่ไม่ตอบสนองต่อเสียง หรือในกรณีที่ว่าเด็กโตหน่อย จะพูดช้า หรือบางคนก็อาจจะไม่ค่อยสนสิ่งแวดล้อม แต่ดีที่สุดก็คือตรวจการได้ยินตั้งแต่แรกคลอด เหมือนเป็นการคัดกรอง เพราะว่าบางที จะใช้วิธีสังเกต มันก็สังเกตได้ยากเหมือนกัน” นพ.พิบูล กล่าว
ดังนั้น วิธีการที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่สบายใจได้มากที่สุด ก็คือการตรวจคัดกรองตั้งแต่แรกเกิดว่าลูกน้อยมีปัญหาในการได้ยินหรือไม่ และยิ่งรู้ได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งรักษาได้เร็วเท่านั้น เนื่องจากบ่อยครั้งที่พ่อแม่กว่าจะรู้ว่าลูกรักมีปัญหาการได้ยิน ก็ต่อเมื่อลูกอายุ 2-3 ขวบ หรือเริ่มโตแล้ว และตอนนั้นก็อาจจะไม่ทันการต่อการรักษาเยียวยา
ขอบคุณข้อมูล : รายการ “Health Line สายตรงสุขภาพ”

Share

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites